นาฬิกาข้อมือยูลิส นาร์แดง โชว์เรือนเวลารัตนโกสินทร์

นาฬิกาข้อมือยูลิส นาร์แดง โชว์เรือนเวลารัตนโกสินทร์
มอบความเที่ยงตรงบนชั้นเชิงแห่งศิลปะเคลือบสีลงยา ตามศัพท์เทคนิคเก่าก่อนของนาฬิกาสมัยยุโรปตอนกลางที่เรียกว่า “ชอมเลอเว่” ให้ประวัติศาสตร์ได้จารึกอีกครั้ง เมื่อสุดยอดแบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากสวิตเซอร์แลนด์ “ยูลิส นาร์แดง” ส่งตรงคอลเลกชั่นอีนาเมลที่หาชมยากจากงานบาเซิลเวิลด์ล่าสุด มาจัดแสดงนิทรรศการครั้งแรกในเอเชีย “เดอะ มิสทีค อาร์ต ออฟ ไทม์พีซ เอ็นเกรฟวิ่ง บาย ยูลิส นาร์แดง” เพื่อร่วมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 230 ปี ระหว่างนี้ถึงวันที่ 27 มี.ค.2555 ณ บริเวณชั้นจี ศูนย์การค้าเกษร

ในวันเปิดงานได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ คริสติน เชอราเนอร์ บูร์เกเนอร์เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ซึ่งนอกจากมาเป็นประธานแล้วยังให้ความสนใจเดินชมการสาธิต เทคนิคทำหน้าปัดแบบชอมเลอเว่ฝีมือ ปิแอร์ อะแลง โลเซรองต์ ช่างชาวสวิส หนึ่งในช่างฝีมือที่หลงเหลืออยู่ไม่ถึง 10 คนในโลก บินตรงมาโชว์ฝีมือกันถึงในงาน ซึ่งทำให้แขกวีไอพีและวอทช์คอลเลกเตอร์ อาทิ จำนงค์ ภิรมย์ภักดี, วัชรกิติ วัชรโรทัย, พีระ กิตติวรรธนกุล, ธนสาร วิจิตรกาญจน์, ชาญ ศรีวิกรม์, ดร.เชษฐา ส่งทวีผล ฯลฯ ต่างยกนิ้วโป้งให้ด้วยความทึ่ง
ด้านเรือนเวลาไฮไลต์รุ่นประวัติศาสตร์ ณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการ พีเอ็มที เดอะ อาวร์ กลาส ศูนย์รวมนาฬิกาแบรนด์เนมระดับมาสเตอร์พีซ นำเสนอ ยูลิส นาร์แดง ลิมิเต็ดอิดิชั่น ฉลองครบรอบ 230 ปี รัตนโกสินทร์ ลงลายหน้าปัดแบบชอมเลอเว่ ตกแต่งเป็นรูปเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองทางมรดกและวัฒนธรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะกำลังล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มาให้ชมอย่างใกล้ชิด โดยให้เห็นถึงกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อนและพิถีพิถัน ต้องใช้เวลาแรมเดือนในการสร้างสรรค์ กว่าจะเสร็จสมบูรณ์บรรจุในตัวเรือนทองชมพูสวยหรู ตระกูลคลาสสิโค ขนาด 40 มิลลิเมตร มีพื้นหน้าปัดให้เลือก 2 สไตล์ โดยพื้นสีน้ำเงิน เปรียบเสมือนท้องฟ้ายามค่ำคืน สีฟ้าสะท้อนให้เห็นอรุณรุ่ง ในราคาเรือนละ 1,888,000 บาท ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 9 เรือนทั่วโลกเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีเรือนเวลารุ่นพิเศษมาจัดแสดงอีกมากมาย อาทิ “คลาสสิโค ดรากอน” ผลิตเพื่อร่วมฉลองปีนักษัตรมังกร 88 เรือนทั่วโลก หรือ “เอช เอ็ม เอส วิคทอรี่” เรือรบราชนาวีลำสุดท้าย ตัวแทนศิลปะเทคนิคการต่อเรือจำกัดเพียง 30 เรือน เป็นต้น.
ที่มาเดลินิวส์






ไม่มีความคิดเห็น: